วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข้อวินิจฉัยการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอก(4)(วินัยผลถวิล, อำไพวรรณ เทือกมั่น)

                              ข้อวินิจฉัยการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอก(ต่อ)
การดูแลขณะถอด/หลังถอดท่อระบายทรวงอก
1.       วิตกกังวลเกี่ยวกับการถอดท่อระบายทรวงอก เนื่องจากกลัวความเจ็บปวด
ข้อมูลสนับสนุน
-          สีหน้าวิตกกังวล หน้านิ่วคิ้วขมวด
-          ผู้ป่วยสอบถามถึงความเจ็บปวดขณะถอดท่อระบายทรวงอก
-          ผู้ป่วยสอบถามถึงวิธีการปฏิบัติตนขณะนำท่อระบายทรวงอกออก
-          ผู้ป่วยสอบถามถอดท่อระบายทรวงอกออกแล้วลมจะเข้าไปในปอดได้หรือไม่
จุดประสงค์
1.       เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย
2.       เพื่อขอความร่วมมือในการปฏิบัติตัวขณะถอดท่อระบายทรวงอกออก
เกณฑ์การประเมินผล
1.       ผู้ป่วยบอกความวิตกกังวลลดลง
2.       ผู้ป่วยให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำขณะถอดท่อระบายทรวงอกได้ถูกต้อง
3.       ผลการถ่ายภาพรังสีทรวงอกหลังถอดท่อระบายทรวงอกออกปกติ

กิจกรรมการพยาบาล
1.       ประเมินสภาพความพร้อมของผู้ป่วยที่จะถอดท่อระบายทรวงอก ได้แก่
-          หายใจสะดวก อัตราการหายใจไม่เกิน 24 ครั้ง/นาที การขยายตัวของทรวงอกเท่ากันทั้ง 2 ข้าง เสียงหายใจปกติ
-          จำนวนสารน้ำออก < 50 cc./วัน
-          ผลการถ่ายภาพรังสีทรวงอกปอดขยายดี
2.       เตรียมตัวผู้ป่วยให้พร้อมสำหรับการถอดท่อระบายทรวงอก โดย
-          อธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่าขณะนี้ปอดขยายตัวดีแล้ว แพทย์จะถอดท่อระบายทรวงอกให้  โดยจะดึงท่อยางออกขณะที่ผู้ป่วยกลั้นหายใจ ช่วงสุดของการหายใจออก
-          ฝึกให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกลึก ๆ อย่างเต็มที่ ภายหลังการหายใจออกให้กลั้นหายใจไว้สักครู่
3.       ช่วยเหลือแพทย์ในการถอดท่อระบายทรวงอก โดยเตรียมของใช้ให้พร้อม เช่น Set ทำแผล, กรรไกรตัดไหม, Adhesive plaster, Artery clamp
4.       ให้กำลังใจผู้ป่วยขณะแพทย์ถอดท่อระบายทรวงอกออก
5.       ประเมินอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยหลังถอดท่อระบายทรวงอกออก เช่นอาการหายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก
6.       สอนให้ผู้ป่วยสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีแน่นอึดอัด หายใจลำบาก ปวดแผลมาก มีไข้ ให้แจ้งให้พยาบาลทราบทันที
7.       หลังจากแพทย์ถอดท่อระบายทรวงอกแล้ว ส่งตรวจและติดตามผลการถ่ายภาพรังสีทรวงอก

2.       เสียงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลที่ถอดท่อระบายทรวงอกเนื่องจากเป็นแผลเปิด/เนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บหลังถอดท่อระบายทรวงอก
ข้อมูลสนับสนุน
-          อุณหภูมิร่างกาย > 38oC
-          มีสารคัดหลั่งซึม/มีกลิ่นเหม็น หลังถอดท่อระบายทรวงอกออก
-          ปวด บวม แดง ร้อน กดเจ็บแผลรอบ ๆ บริเวณที่ถอดท่อระบายทรวงอกออก
-          ผลจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ CBC WBC > 10,000 cell/cu.mm.
-          ผู้ป่วยเจ็บแน่นหน้าอก, ไอมีเลือดปน
จุดประสงค์
1.       ป้องกันการติดเชื้อแผลถอดท่อระบายทรวงอก แผลในช่องเยื่อหุ้มปอด
2.       ส่งเสริมการหายของแผล
เกณฑ์การประเมินผล
1.       สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- อุณหภูมิร่างกาย        36.5oC – 37.4oC
- ชีพจร                          60 – 100 ครั้ง/นาที
- การหายใจ                  18 – 20 ครั้ง/นาที
- ความดันโลหิต          90/60 – 130/90 mmHg
2.       แผลแห้งสะอาดตลอดระยะเวลาที่ใส่ท่อระบายทรวงอก
3.       ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ CBC WBC 5,000 – 10,000 Cells/mm2
4.       ผลการตรวจเพาะเชื้อสิ่งระบายจากรอบแผล/ท่อระบายทรวงอกอ ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์
กิจกรรมการพยาบาล
1.        ประเมินอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อบริเวณแผลถอดท่อระบายทรวงอก ได้แก่อาการแผลมีลักษณะ บวม แดง ร้อน ปวด แผลมีหนอง หรือสารคัดหลั่งมีสีผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
2.        วัดสัญญาณชีพทุก 4 ชั่วโมง เพื่อประเมินอาการติดเชื้อ
1.        ดูแลทำความสะอาดแผลโดยใช้เทคนิคสะอาด ปราศจากเชื้อ (Aseptic Technique) ล้างมือก่อนและหลังให้การพยาบาล
2.        สอนให้ผู้ป่วยระมัดระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำระหว่างทำความสะอาดร่างกาย หรือห้ามแกะเกาแผลหรือเปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
3.        กระตุ้นให้ผู้ป่วยหายใจอย่างถูกวิธี โดยให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกลึก ๆ 3-5 ครั้งแล้วไอออกมาทุก 1-2 ชั่วโมง
4.        ให้ยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
5.        ติดตามประเมินผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น CBC, การเพาะเชื้อ(Culture)

3.       วิตกกังวลเกี่ยวกับการดูแลหลังจากถอดท่อระบายทรวงอกออกขณะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและเมื่อกลับบ้าน
ข้อมูลสนับสนุน
1.       ผู้ป่วยและญาติสอบถามว่าจะนอนพักรักษาในโรงพยาบาลกี่วันจึงจะกลับบ้านได้
2.       ผู้ป่วยและญาติสอบถามถึงการหายของแผลหลังจากถอดท่อระบายทรวงอกออก
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติคลายความวิตกกังวล
เกณฑ์การประเมินผล
1.       ผู้ป่วยและญาติบอกความวิตกกังวลลดลง หรือไม่มีความวิตกกังวล
2.       สีหน้าผู้ป่วยคลานความกังวล
3.       ไม่มีอาการและอาการแสดงของความวิตกกังวล เช่น อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ม่านตาขยาย ใจสั่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน กระสับกระส่าย เป็นต้น
4.       สัญญาณชีพอยู่ในช่วงปกติ
- อุณหภูมิร่างกาย        36.5oC – 37.4oC
- ชีพจร                          60 – 100 ครั้ง/นาที
- การหายใจ                  18 – 20 ครั้ง/นาที
- ความดันโลหิต          90/60 – 130/90 mmHg
       5.    นอนหลับพักผ่อนได้
กิจกรรมการพยาบาล
1.       สร้างสัมพันธภาพที่ดีแก่ผู้ป่วยและญาติ รับฟังผู้ป่วยอย่างตั้งใจ ไม่แสดงท่าทีเบื่อหน่ายรำคาญ กระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดถึงความวิตกกังวล ความคับข้องใจหรือปัญหาต่าง ๆ
2.       ประเมินความวิตกกังวลของผู้ป่วยจากการเปลี่ยนแลงทางร่างกาย และสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก
3.       อธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบถึงพยาธิสภาพของโรคและแนวทางการรักษาพยาบาล
4.       แนะนำการปฏิบัติตนและการดูแลตนเองเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน ได้แก่
-          การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก และผลไม้
-          การพักผ่อนอย่างเพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
-          การออกกำลังกาย
-          การรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
-          การมาตรวจตามนัด
-          อาการผิดปกติที่ต้องรีบมาพบแพทย์ เช่น มีอาการไข้ แผลอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ไอมีเสมหะมากหรือมีเลือดปน
5.       แนะนะญาติให้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย และประคับประคองด้านจิตใจเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น