วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข้อวินิจฉัยการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอก(1)(วินัย ผลถวิล, อำไพวรรณ เทือกมั่น)

ข้อวินิจฉัยการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอก
กรณี
-          ใส่ท่อระบายทรวงอก
-          ผ่าตัดระบบทางเดินหายใจ
-          การบาดเจ็บทรวงอกทั่วไป (Hemothorax, Pneumothorax, Fail chest etc.)

การพยาบาลผู้ป่วยใส่ท่อระบายทรวงอก (Intercostal Drainage, ICD)
การวินิจฉัยการพยาบาลระยะก่อนใส่ท่อระบายทรวงอก
1.       ผู้ป่วย/ญาติ วิตกกังวลเกี่ยวกับการใส่ท่อระบายทรวงอก
ข้อมูลสนับสนุน
-          ผู้ป่วยบอกกลัวการใส่ท่อระบายทรวงอก
-          ผู้ป่วยบอกกลัวเจ็บ
-          ผู้ป่วย/ญาติสอบถามถึงอันตราย/ภาวะแทรกซ้อนในการใส่ท่อระบายทรวงอก
-          ต่อรองถึงการรักษาวิธีอื่นโดยไม่ใส่ท่อระบายทรวงอก
-          ปฏิเสธการใส่ท่อระบายทรวงอก
-          หน้านิ่วคิ้วขมวด
-          มีอาการและอาการแสดงของความวิตกกังวล ได้แก่ อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ม่านตาขยาย ใจสั่น  แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน กระสับกระส่าย เป็นต้น
จุดประสงค์
1.    เพื่อลดความกังวลของผู้ป่วยและญาติ
2.    เพื่อให้ผู้ป่วย/ญาติให้ความร่วมมือยอมรับการวิธีการรักษาโดยการใส่ท่อระบายทรวงอก
เกณฑ์การประเมินผล
1.       ผู้ป่วย/ญาติให้ความร่วมมือในการใส่ท่อระบายทรวงอก
2.       ผู้ป่วย/ญาติบอกระดับความวิตกกังวลลดลง
3.       ผู้ป่วยปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในขณะใส่ท่อระบายทรวงอก
กิจกรรมการพยาบาล
1.       ทำความเข้าใจกับผู้ป่วย และ/หรือญาติเกี่ยวกับการใส่ท่อระบายทรวงอก และขอความร่วมมือจากผู้ป่วยในการใส่ท่อระบายทรวงอก ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี หรือไม่อยู่ในภาวะรีบด่วน ดังนี้
-          อธิบายถึงความจำเป็นและจุดประสงค์ของการใส่ท่อระบายทรวงอก เพื่อระบายอากาศหรือสารน้ำต่าง ๆ ออก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก เหนื่อยน้อยลง และถอดท่อระบายทรวงอกออกเมื่อปอดขยายตัวดีแล้ว
-          อธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการใส่ท่อระบายทรวงอก
-          สอนและฝึกให้ผู้ป่วยหายใจเข้าหรือออกเต็มที่ และกลั้นหายใจไว้นานที่สุด และบอกจุดประสงค์ในการฝึกให้ผู้ป่วยทราบว่าเพื่อให้สามารถกลั้นหายใจไว้ได้ขณะใส่ท่อระบายทรวงอก
2.       จัดสิ่งแวดล้อมและร่างกายผู้ป่วยให้พร้อมสำหรับการใส่ท่อระบายทรวงอก ดังนี้
-          จัดสิ่งแวดล้อมให้มิดชิด และป้องกันความหวาดกลัวของผู้ป่วยโดยการปิดตา กั้นม่าน และให้ผู้ป่วยหลับตา หรือหันหน้าไปด้านตรงกันข้ามกับที่จะใส่ท่อระบายทรวงอก
-          จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายศีรษะสูง 45o-60o หรือนั่งบนเตียงฟุบหน้ากับโต๊ะคร่อมเตียง หรือจัดท่าอื่น ๆ ตามตำแหน่งที่จะใส่ท่อระบายทรวงอก และสะดวกต่อการปฏิบัติงานของแพทย์
3.       ปลอบประโลมและให้กำลังใจผู้ป่วยขณะใส่ท่อระบายทรวงอก เพื่อลดความหวาดกลัว วิตกกังวลของผู้ป่วย และให้ความร่วมมือในการใส่ท่อระบายทรวงอก

2.       เสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลที่ใส่ท่อระบายทรวงอกและช่องเยื่อหุ้มปอด เนื่องจากเป็นหัตถการ Invasive procedure/ ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใส่ท่อระบายทรวงอก/ ขั้นตอนการใส่ท่อระบายทรวงอกไม่ปราศจากเชื้อเพียงพอ/ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการใส่ท่อระบายทรวงอกที่ปราศจากเชื้อ
ข้อมูลสนับสนุน
-          ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใส่ท่อระบายทรวงอก
-          ผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของการใส่ท่อระบายทรวงอก
-          ขั้นตอนการใส่/อุปกรณ์ ไม่ปราศจากเชื้อเพียงพอ
-          ละเมิดเทคนิคปราศจากเชื้อขณะใส่ท่อระบายทรวงอก
จุดประสงค์
เพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนใส่ท่อระบายทรวงอก
เกณฑ์การประเมินผล
1.       สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- อุณหภูมิร่างกาย        36.5oC – 37.4oC
- ชีพจร                          60 – 100 ครั้ง/นาที
- การหายใจ                  18 – 20 ครั้ง/นาที
- ความดันโลหิต          90/60 – 130/90 mmHg
2.       แผลแห้งสะอาดตลอดระยะเวลาที่ใส่ท่อระบายทรวงอก
3.       ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ CBC WBC 5,000 – 10,000 Cells/mm2
4.       ผลการตรวจเพาะเชื้อสิ่งระบายจากรอบแผล/ท่อระบายทรวงอก ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์
กิจกรรมการพยาบาล
1.       อธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงวัตถุประสงค์ของการใส่ท่อระบายทรวงอก ขั้นตอนการใส่ และการผฏิบัติตนขณะใส่ท่อระบายทรวงอก เพื่อขอความร่วมมือ
2.       ทำความสะอาดผิวหนังเฉพาะที่หรือร่างกายทั่วไปก่อนด้วยน้ำและสบู่ในกรณีที่พบว่าผิวหนังสกปรก
3.       ล้างมือก่อนเตรียมเครื่องใช้ หรือช่วยแพทย์ก่อนใส่ท่อระบายทรวงอก
4.       จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับใส่ท่อระบายทรวงอกที่ปราศจากเชื้อให้แพทย์ และจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หยิบใช้ได้สะดวก
5.       ระมัดระวังให้อุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อไม่มีการปนเปื้อนขณะช่วยแพทย์ใส่ท่อระบายทรวงอก
6.       เตรียมชุดต่อท่อระบายทรวงอกให้เรียบร้อยโดยใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ พันรอบรอยต่อทุกแห่งให้แน่น และตรวจสอบให้อยู่ในระบบปิดเสมอ
7.       ทำความสะอาดแผลรอบ ๆ บริเวณท่อระบายทรวงอก และปิดแผลโดยยึดหลัก Aseptic Technique
8.       จัดวางขวดรองรับสิ่งระบายให้อยู่ในระดับต่ำกว่าทรวงอกประมาณ 1 ½ - 3 ฟุต เสมอ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น